วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

10 วิธีปฏิบัติก่อนนอน เพื่อสุขภาพดี

โดยเฉลี่ยคนเราใช้เวลาหนึ่งในสามของชีวิตไปกับการนอนหลับ เพราะการนอนหลับคือการพักผ่อนที่ดีที่สุดของร่างกาย แต่เชื่อหรือไม่ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นพบว่าจะมีคนประมาณ 100 ล้านคน ที่ไม่สามารถนอนหลับให้เต็มอิ่มได้เป็นประจำทุกคืนขณะเดียวกันยังมีอีก 33 ล้านคนที่มีอาการนอนไม่หลับหรือหลับไม่ได้เต็มอิ่มเป็นครั้งคราว ดังนั้นการนอนหลับที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต


          ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยของสมาคม The American Sleep Apnea Association และ Sleep Disorders Clinic and Research Center แห่งมหาวิทยาลัย Stanford พบว่า การที่เราอดนอนมากๆ นั้น จะมีผลเท่าเทียมกับการดื่มเหล้าจนเมาทีเดียว ที่สำคัญคือ มันยังสามารถทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับการเมาเหล้าด้วย

          วิธีปฏิบัติ 10 ประการ เพื่อการนอนหลับให้ได้สุขภาพที่ดี มีดังนี้

          1. ทำกิจวัตรอย่างสม่ำเสมอ อย่านอนตื่นสายเมื่อมีโอกาส (เช่นวันสุดสัปดาห์) หากเราทำอย่างนั้นแล้ว เราอาจนอนไม่หลับในคืนวันอาทิตย์ เช้าวันจันทร์ จะรู้สึกอ่อนเพลียมากที่เดียว เราควรเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิมทุกๆ วัน การใช้นาฬิกาปลุกนั้น ก็ไม่จำเป็น 

          2. อย่ารับประทานอาหารเข้าไปเยอะๆ ก่อนเข้านอน ควรที่จะรับประทานอาหารมื้อใหญ่ๆ ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2 ชม. หากดื่มน้ำเข้าไปมากเราอาจจะต้องตื่นมามเข้าห้องน้ำหลายครั้งในกลางดึกอย่ารับประทานอาหารรสจัดหรือมีไขมันสูง เพราะจะทำให้เกิดลมในกระเพาะ อย่ารับประทานอาหารว่างตอนดึก หากหิวจริงๆ แล้ว ก็ควรรับประทานอาหารที่ทำให้ร่างกายหลั่งสาร Serotonin (จำทำให้ง่วง) หรืออาหารจำพวกแป้ง (Carbohydrates) ได้แก่ ขนมปัง หรือธัญพืชต่างๆ เราอาจรับประทานอาหารที่มีสารกรดแอมิโน L-Tryptophan อันได้แก่ นมปลาทูน่า หรือไก่ ก็ได้ผลดี อย่าดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เมื่อใกล้เวลาเข้านอน เนื่องจากว่า แอลกอฮอล์อาจทำให้ตื่นขึ้นมาบ่อยๆกรน และอาจทำให้มีการหยุดหายใจเป็นพักๆ (ที่เรียกว่า Sleep apnea)

          3. ควรหลีกเลี่ยงสารกาเฟอีนและนิโคติน เนื่องจากว่ามันเป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท และยังเป็นสารเสพติดอีกด้วย สารเหล่านี้อาจกระตุ้นประสาทจนนอนไม่หลับ

          4. การออกกำลังกาย เป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยให้เราหลับสบาย เวลาออกกำลังกายที่ดี (เพื่อนอนหลับ) คือช่วงตอนบ่าย การออกกำลังกายนั้นจะช่วยให้หลับได้อย่างลึก อันจะนำมาสู่ความหายเหนื่อยและรู้สึกกระปรี๊กระเปร่า

          5. อากาศในห้องนอนที่เย็นสบายกำลังดีไม่ร้อนเกินไปไม่หนาวเกินไป จากการวิจัย เราพบว่าหากมือและเท้าของเราได้รับความอบอุ่นดีแล้ว การนอนหลับนั้นจะเกิดได้ดียิ่งขึ้น

          6. นอนเวลากลางคืนเท่านั้น อย่านอนกลางวันเป็นเวลานานๆ โดยเด็ดขาด หากจะนอนกลางวันจริงๆก็ให้นอนงีบ ครั้งละไม่เกิน 20 นาที

          สำหรับคนที่ทำงานกลางคืนแล้วต้องนอนตอนกลางวันนั้น ควรจะบังแสงสว่างให้ห้องนั้นมืดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะแสงสว่างนั้นจะมีผลต่อนาฬิกาของร่างกายเรา ทำให้นอนไม่หลับ

          ส่วนคนที่ทำงานกลางวันและนอนกลางคืนแต่มีปัญหาว่าตื่นนอนยากนั้น ควรที่จะเปิดม่านไว้เพื่อให้แสงสว่างเข้าได้เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น จะช่วยให้ตื่นได้ดีขึ้น

          7. อย่าให้มีเสียงรบกวน ความเงียบนั้นจะทำให้เราหลับได้ดีและสบายขึ้น ปิดวิทยุหรือโทรทัศน์เสีย อาจใช้จุกอุดหู หรือเครื่องอะไรก็ได้ที่ทำให้เกิดเสียงเบาๆ แบบสม่ำเสมอ เช่น พัดลม เพื่อกลบเสียงต่างๆ ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เสียงการจราจรเสียงเครื่องบิน หรือแม้กระทั่งคู่นอนที่นอนกรน การปิดกระจกและการใช้ม่าน ก็สามารถกำจัดเสียงได้มากที่เดียว

          8. จัดการกับที่นอน ที่นอนที่ดีของแต่ละคนนั้น มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง สิ่งที่สำคัญคือที่นอนควรสบาย และรองรับโครงร่างของเราได้เป็นอย่างดี หากจะต้องนอนเตียงร่วมกับคนอื่น ควรที่จะแน่ใจว่า ที่นอนกว้างเพียงพอใช้ที่นอนเพื่อการนอนเท่านั้น

          ควรเข้านอนเมื่อเรารู้สึกว่าอ่อนเพลียแล้วปิดไฟ แล้วนอนลง หากไม่หลับภายใน 15 นาที ควรลุกขึ้นมาทำอะไรได้จนกว่าจะรู้ว่าอ่อนเพลียอีกครั้ง แล้วลงนอนใหม่ อย่ากังวลว่านอนไม่หลับความกังวลจะยิ่งทำให้หลับยากมากขึ้น

          9. อาบน้ำแล้วนอน การอาบน้ำอุ่นจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ช่วยให้หลับสบาย

          10.ไม่ควรใช้ยานอนหลับเป็นอันขาดยกเว้นว่าจะมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น แล้วควรใช้ตามดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น จะมีผลขัดกับยาอื่นๆ ที่เราต้องรับประทานอยู่หรือเปล่า ยานอนหลับอาจมีผลต่อโรคเดิมที่เราอยู่ก็ได้ ให้ใช้ขนาดยาน้อยที่สุดที่จะได้ผลและห้ามรับประทานร่วมกับแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาดหากใช้นานอนหลับแล้วรู้สึกมึนหัวหรือง่วงหลังจากที่ตื่นนอนแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เผื่อว่าอาจต้องปรับขนาดของยา หรือเปลี่ยนชนิดของยาก็เป็นได้

ไข้เลือดออก “Dengue Hemorrhagic Fever”

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน โรคภัยไข้เจ็บหลายชนิดที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูนี้  ก็มักจะเริ่มแสดงตนอย่างชัดเจนมากขึ้น  บางโรคก็มีความรุนแรงมาก  เป็นแล้วผู้ป่วยอาจถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังพบว่ามีความรุนแรงชนิดที่กระทรวงสาธารณสุขต้องออก มาประกาศเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเฉพาะในช่วงฝนพรำๆ อย่างนี้ ได้แก่ ไข้เลือดออกที่เป็นได้ตลอดปี  แต่มักจะระบาดในช่วงฤดูฝน  จากรายงานของ  กรมควบคุมโรค ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. 50 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกของประเทศไทยจำนวน 30,120 ราย อัตราป่วยเท่ากับ 47.94 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 29 ราย ดังนั้น ฉบับนี้เรามาทำความรู้จักไข้เลือดออก เพื่อจะได้หาทางป้องกัน

ไข้เลือดออก “Dengue Hemorrhagic Fever” 
เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ (Serotype) คือ DEN1, DEN2, DEN3, DEN4 การติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งในครั้งแรก เรียกว่า การติดเชื้อปฐมภูมิ (Primary infection) อาจไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง อีกทั้งมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ที่เป็น คือประมาณ 6-12 เดือน ส่วนการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่เหลือในครั้งต่อไปเรียกว่าการติดเชื้อทุติยภูมิ (Secondary infection) มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนสูง
การติดต่อ
ไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ตัวเมียเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ไปกัดคน เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย และใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-10 วัน

อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเดงกี่ส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกและมีจุดแดงที่ผิวหนัง ซึ่งอาการสำคัญแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะคือ
   
1.ระยะไข้   ผู้ป่วยจะมีไข้สูงกว่า 38.5 OC อย่างเฉียบพลัน เป็นเวลา  2-7 วัน บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง ไม่มีน้ำมูกหรือไอ  เบื่ออาหาร อาเจียน ตับโต กดเจ็บ มีผื่นตามตัว มีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามผิวหนัง ลำตัว แขน ขา รักแร้ เนื่องจากเส้นเลือดเปราะหรือการทำ Tourniquet test จะพบจุดเลือดออก อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน หรือถ่ายเป็นสีดำ
   
2. ระยะวิกฤต/ช็อค  อาการจะเลวลงเมื่อไข้ลดลงกะทันหัน ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบๆ ปากเขียว บางรายอาจมีอาการปวดท้องมาก่อนจะมีอาการช็อค ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ถ้าให้การรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตใน 12-24 ชั่วโมง แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกต้อง และทันเวลา
ผู้ป่วยจะหายได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลงอาการต่างๆ จะดีขึ้น ส่วนใหญ่ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว อาจมีเหงื่อออกมากและมือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว แต่จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ จะกลับเป็นปกติ เริ่มรู้สึกอยากอาหารซึ่งจะเป็นเครื่องชี้บ่งว่าผู้ป่วยพ้นระยะอันตราย
   
3. ระยะฟื้นตัว  อาการโดยทั่วไปดีขึ้นอย่างชัดเจน ความดันโลหิตและชีพจรปกติ ตับที่โตจะลดขนาดลงภายใน 1-2 สัปดาห์ มักจะมีผื่นแดงที่ขา ปลายมือปลายเท้าและมีอาการคัน
การดูแลรักษา
ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ  คือ
   1.เช็ดตัวลดไข้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการชัก
   2.ให้ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพรินเพราะจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้เลือดออกง่าย 
   3.ให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหารอาเจียนและอ่อนเพลีย ควรให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ โดยดื่มที่ละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ
   4.ควรให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย งดอาหารที่มีสีแดง ดำ หรือสีน้ำตาล
   5.หากผู้ป่วยมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้พาไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยโรค  ที่ถูกต้อง
การป้องกัน
   1.ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนกางมุ้งหรือมีมุ้งครอบ แม้ตอนกลางวัน
   2.กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย โดยกำจัดลูกน้ำในภาชนะต่างๆ ที่มีน้ำขัง ด้วยการใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชู เช่น ใส่ลงในขารองตู้เย็น ตู้กับข้าว
   3.ปิดฝาภาชนะสำหรับเก็บน้ำให้มิดชิด เช่น โอ่ง ถังเก็บน้ำ
   4.หมั่นเปลี่ยนหรือทิ้งน้ำในภาชนะบรรจุน้ำและภาชนะที่มีน้ำขัง เพื่อป้องกันยุงมาวางไข่ เช่น แจกัน จานรองกระถางต้นไม้ 
   5.เก็บทำลายเศษวัสดุ เช่น ขวด กระป๋อง เพื่อไม่ให้รองรับน้ำได้
   6.ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ไม่มีฝาปิดหรือแหล่งน้ำใกล้บ้าน
   7.ตัดต้นไม้ ที่รกครึ้ม เพื่อให้มีแสงสว่างและอากาศถ่ายเทได้ดี
   8.ป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงลายกัด ด้วยการดูแลหน้าต่าง ประตู ช่องลม ไม่ให้ยุงเข้า จัดข้าวของในบ้านไม่ให้กองสุมกัน รวมถึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดยุง และทากันยุงให้ถูกต้อง

ด้วยเหตุนี้ การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายอันเป็นเป้านิ่งที่กำจัดง่ายที่สุด หากมีเพียงบ้านใดบ้านหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือ ยุงจากบ้านนั้นก็สามารถบินไปกัดผู้อื่นได้ และไม่แน่ว่า วันหนึ่งผู้โชคร้ายที่ป่วยรุนแรง อาจเป็นคนใกล้ตัวที่เรารักก็ได้ใครจะรู้....แล้วเราพร้อมหรือยังคะ ที่จะร่วมแรงกันกำจัดลูกน้ำยุงลายให้หมดไป...