น้ำมันปลา เป็นน้ำมันที่สกัดจากส่วนของเนื้อ หนัง หัว และหางของปลาทะเลน้ำลึกโดยเฉพาะปลาในเขตหนาว ในน้ำมันปลามีกรดไขมันหลายชนิด แต่ที่สำคัญและมีการนำมาใช้ทางการแพทย์ คือ กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 และกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 6 ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 ที่สำคัญ 2 ชนิด คือ กรดไอโคซาเพนตาอีโนอิก EPA (Eicosapentaenoic acid) และกรดโดโคซาเฮ็กซาอีโนอิก DHA (Docosahexaenoic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น สำหรับกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 6 เป็นกรดไขมันที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีผลในการลดไขมันในเลือด พบมากในน้ำมันพืชหลายชนิด เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น
ในปี ค.ศ. 1976 ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าชาวเอสกิโม ซึ่งอาหารหลักในชีวิตประจำวันคือ ปลา มีอุบัติการณ์เกิดเส้นเลือดอุดตันต่ำมาก รวมทั้งพบว่ามีระดับไขมันในเลือดต่ำ การเกาะกันของเกล็ดเลือดน้อยกว่าชาวเดนมาร์กซึ่งอาหารหลักคือเนื้อสัตว์และ ผลิตภัณฑ์นม และสี่ปีต่อมาในปีค.ศ. 1980 ผลการวิจัยในประเทศญี่ปุ่นพบว่าชาวบ้านในหมู่บ้านประมงซึ่งรับประทานปลาเป็น อาหารหลักก็มีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจต่ำกว่าทั่วไป การเกาะกันของเกล็ดเลือดและความหนืดของเลือดต่ำกว่าชาวญี่ปุ่นในหมู่บ้านที่ เลี้ยงสัตว์ อาหารประจำวันของผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านประมงเป็นอาหารทะเลมากกว่าในหมู่บ้าน ที่เลี้ยงสัตว์กว่า 2 เท่า และยังพบว่าในอาหารทะเลมีกรดไขมันชนิด EPAในปริมาณสูง
คณะผู้วิจัยได้สกัดกรดไอโคซาเพนตาอีโนอิกออกจากน้ำมันปลาซาร์ดีน บรรจุในแคปซูลให้อาสาสมัครรับประทาน วันละ 1.4 กรัม พบว่าความหนืดของเลือดของอาสาสมัครลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนหลังจากรับประทาน ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ เกิดข้อสรุปว่าอาหารทะเลช่วยลดความหนืดของเลือดซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการ ป้องกันหรือรักษาภาวะเส้นเลือดอุดตัน นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1983 เป็นต้นมา น้ำมันปลาก็เริ่มเป็นที่สนใจรู้จักกันทั่วไป แต่ในเวลานั้นผลการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถสรุปประสิทธิภาพของน้ำมัน ปลาในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้อย่างแน่นอน เพราะการศึกษาไม่ได้ทำในวงกว้างขวาง จนกระทั่งสิบกว่าปีผ่านไปพร้อมกับรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ออกมาเรื่อยๆว่า น้ำมันปลามีประสิทธิภาพในการป้องกันหลอดเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจ และยังมีรายงานว่าช่วยป้องกันโรคมะเร็งและข้ออักเสบได้อีกด้วย
แหล่งน้ำมันปลาในธรรมชาติที่ดีที่สุด คือ ปลาทะเล หอยนางรมแปซิฟิก และปลาหมึก ปลาทะเล เช่น แซลมอน ทูน่า ซาบะ ซาร์ดีน เฮอร์ริ่ง แองโชวี่ ไวท์ฟิช บลูฟิช ชอคฟิช เทราท์ แมคเคอเรล เป็นต้น ปลาทะเลที่มีน้ำมันปลามาก คือ ปลาทู ปลาสำลี ปลารัง ปลากระพง เป็นต้น พบว่าปลาที่จับได้ในธรรมชาติจะมีปริมาณกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ในสัดส่วนที่เหมาะสม ส่วนปลาที่เลี้ยงในบ่อจะมีปริมาณของกรดโอเมก้า 6 มากกว่าโอเมก้า 3 ปัจจุบันน้ำมันปลาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ได้รับความนิยมในการรับประทาน อย่างแพร่หลาย ส่วนน้ำมันตับปลาที่เรารู้จักกันดี สกัดจากตับของปลาทะเล เช่นปลาคอด แฮลิบัท เฮอร์ริ่ง มีสารสำคัญคือวิตามินเอ และดี
ประโยชน์ของน้ำมันปลา
ลดระดับของไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด และเพิ่มระดับของเอชดีแอลโคเลสเตอรอล ซึ่งเป็นไขมันที่ดี น้ำมันปลาสามารถลดระดับของไตรกลีเซอไรด์ลงได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงกว่าน้ำมันข้าวโพดและน้ำมันดอกคำฝอยมาก ผู้ชายที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง เมื่อให้กินปลาประมาณ 18 ออนซ์ต่อวันเป็นเวลา 3 เดือน พบว่าระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลงและระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น
ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยลดการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดไม่เกาะตัวเป็นลิ่ม เลือดจึงไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดความหนืดของผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดมีความยืดหยุ่น
ลดความดันโลหิต จากรายงานผลการศึกษาวิจัยพบว่าอาหารที่ประกอบด้วยปลาหางแข็งหรือปลาทูซึ่งมีEPA ในปริมาณ 2.2 กรัมต่อวันสามารถลดความดันเลือดซิสโตลิกในคนไข้ที่มีโรคความดันผิดปกติทาง กรรมพันธุ์ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และทำให้เกิดโรคหัวใจในขณะที่อายุยังน้อยอยู่ อาหารที่มีปลาหางแข็งหรือปลาทู ยังช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลงได้เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นระดับกลับสูงขึ้นไปเหมือนเดิมอีก ในผู้ที่มีความดันเลือดสูงในระดับปานกลาง พบว่าอาหารที่มีปลาหางแข็งหรือปลาทูลดความดันซิสโตลิกลงได้เกือบร้อยละ 10 ระดับโซเดียมในเลือดลดลง และเรนินซึ่งเป็นฮอร์โมนตัวหนึ่งที่สร้างในไตซึ่งมีผลมากต่อความดันเลือด นั้น ก็ทำงานได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 64 การศึกษาวิจัยในผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูงเล็กน้อย โดยให้กินน้ำมันปลาแคปซูลเป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าความดันตัวบนหรือซิสโตลิกลดลงอย่างชัดเจน
บรรเทาอาการอักเสบ ปวด บวมของโรคปวดข้ออักเสบรูมาตอยด์
บำรุงระบบประสาทและสมอง ทำให้ความจำและความสามารถในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น
ลดการอักเสบของโรคสะเก็ดเงินหรือโรคเรื้อนกวาง
ความสำคัญของน้ำมันปลา
กรดโดโคซาเฮ็กซาอีโนอิกมีความจำเป็นต่อการพัฒนาของจอตาและสมองของทารก แต่ทารกไม่สามารถสังเคราะห์ DHA ได้ด้วยตนเอง ต้องอาศัยจากน้ำนมแม่ โดยทารกแรกเกิดควรได้รับ DHA ไม่ต่ำกว่าวันละ 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม จากการศึกษายังพบว่าเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เมื่อได้รับนมเสริม DHA จะสามารถมองเห็นได้ชัดเร็วกว่าเด็กที่ไม่ได้รับอีกด้วย มารดาและหญิงที่ให้นมบุตรจึงควรบริโภค DHA อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กรดโดโคซาเฮ็กซาอีโนอิกที่ได้รับ ส่งต่อไปยังลูกโดยผ่านทางรกและน้ำนม
กรดโดโคซาเฮ็กซาอีโนอิกเป็นส่วนหนึ่งของเซลล์สมองและเซลล์ประสาทซึ่งมีผลต่อ สติปัญญา หากร่างกายขาด DHA จะทำให้เซลล์สมองและเซลล์ประสาทขาดประสิทธิภาพไปด้วย เด็กในวัยนี้จึงควรได้รับ DHA ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาการเรียนรู้และการเจริญเติบโตของสมอง
คนในวัยทำงานมักประสบความเครียดอยู่เสมอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะร่างกายขาด DHA ในปริมาณที่เหมาะสม กรดโดโคซาเฮ็กซาอีโนอิกจะผ่านเข้าไปเสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาท ของเซลล์สมอง ซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณและผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน ทำให้สมองทำงานดีขึ้น หากรับประทานอาหารที่มีกรดโดโคซาเฮ็กซาอีโนอิกจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้สัดส่วนของ DHA ในสมองสูงขึ้น ซความเครียดจะลดลงและสมองทำงานได้ดียิ่งขึ้น
ผู้สูงอายุจะเกิดภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้ง่ายกว่าคนในวัยอื่นๆโดยไม่ ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่จากการทดลองโดยการให้กรดโดโคซาเฮ็กซาอีโนอิกแก่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ใน ประเทศญี่ปุ่น พบว่าความสามารถในการคำนวณ ความสามารถในการตัดสินใจ และประสิทธิภาพระดับสูงของผู้ป่วยดีขึ้น โดยกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับDHA เป็นเวลา 6 เดือนจะมีอาการที่ดีขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ DHA อย่างเห็นได้ชัด
การรับประทานน้ำมันปลา
รับประทานเป็นอาหารเสริมเพื่อป้องกันโรคหัวใจ วันละ 1,000 มิลลิกรัม (1 แคปซูล) หลังอาหาร
รับประทานเพื่อรักษาโรค วันละ 3 กรัม (3 แคปซูล) หรือมากกว่านั้นตามคำแนะนำของแพทย์
การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการเป็นรากฐานสำคัญของการป้องกันและรักษา ภาวะโคเลสเตอรอลสูงในเลือด จึงควรเข้าใจถึงแนวทางในการบริโภคอาหารที่ถูกต้องเพื่อควบคุมระดับคอเลสเตอร อลในเลือด และต้องมีความตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติให้ได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง หลีกเลี่ยงโรคร้ายต่างๆ ซึ่งมีภาวะโคเลสเตอรอลสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหัวใจขาดเลือด
หลักการบริโภคอาหารที่สำคัญเพื่อป้องกันและลดระดับโคเลสเตอรอลสูงใน เลือด ประการแรกคือ รับประทานโคเลสเตอรอลไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม โคเลสเตอรอลมีเฉพาะในอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น และมีมากในอาหารบางชนิด เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ มันสัตว์ สัตว์น้ำบางชนิด จึงควรหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณมาก รับประทานอาหารในแต่ละวัน ซึ่งให้พลังงานรวมแล้วเพียงพอต่อการรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยผู้ใหญ่ควรมีดัชนีความหนาของร่างกายประมาณ 20-25 กิโลกรัม/ตารางเมตร โดยคำนวณจากน้ำหนักตัว หน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตร ยกกำลังสอง
หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ ไขมันจากสัตว์ หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ที่มีมันติดมากๆ เช่น หมูสามชั้น เพราะกรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ควรรับประทานอาหารที่ให้กรดไขมันไลโนเลอิกโดยสม่ำเสมอ ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 50 ในน้ำมันพืชบางชนิด เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด ควรรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันไลโนเลอิกประมาณร้อยละ 7-10 ของพลังงานที่ได้รับ เช่น วันหนึ่งต้องการพลังงาน 2000 กิโลแคลอรี่ ควรได้กรดไลโนเลอิกประมาณ 16-22 กรัม ซึ่งได้จากน้ำมันถั่วเหลืองประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ จะช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดได้