วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไข้เลือดออก “Dengue Hemorrhagic Fever”

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน โรคภัยไข้เจ็บหลายชนิดที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูนี้  ก็มักจะเริ่มแสดงตนอย่างชัดเจนมากขึ้น  บางโรคก็มีความรุนแรงมาก  เป็นแล้วผู้ป่วยอาจถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังพบว่ามีความรุนแรงชนิดที่กระทรวงสาธารณสุขต้องออก มาประกาศเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเฉพาะในช่วงฝนพรำๆ อย่างนี้ ได้แก่ ไข้เลือดออกที่เป็นได้ตลอดปี  แต่มักจะระบาดในช่วงฤดูฝน  จากรายงานของ  กรมควบคุมโรค ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. 50 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกของประเทศไทยจำนวน 30,120 ราย อัตราป่วยเท่ากับ 47.94 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 29 ราย ดังนั้น ฉบับนี้เรามาทำความรู้จักไข้เลือดออก เพื่อจะได้หาทางป้องกัน

ไข้เลือดออก “Dengue Hemorrhagic Fever” 
เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ (Serotype) คือ DEN1, DEN2, DEN3, DEN4 การติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งในครั้งแรก เรียกว่า การติดเชื้อปฐมภูมิ (Primary infection) อาจไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง อีกทั้งมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ที่เป็น คือประมาณ 6-12 เดือน ส่วนการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่เหลือในครั้งต่อไปเรียกว่าการติดเชื้อทุติยภูมิ (Secondary infection) มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนสูง
การติดต่อ
ไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ตัวเมียเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ไปกัดคน เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย และใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-10 วัน

อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเดงกี่ส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกและมีจุดแดงที่ผิวหนัง ซึ่งอาการสำคัญแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะคือ
   
1.ระยะไข้   ผู้ป่วยจะมีไข้สูงกว่า 38.5 OC อย่างเฉียบพลัน เป็นเวลา  2-7 วัน บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง ไม่มีน้ำมูกหรือไอ  เบื่ออาหาร อาเจียน ตับโต กดเจ็บ มีผื่นตามตัว มีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามผิวหนัง ลำตัว แขน ขา รักแร้ เนื่องจากเส้นเลือดเปราะหรือการทำ Tourniquet test จะพบจุดเลือดออก อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน หรือถ่ายเป็นสีดำ
   
2. ระยะวิกฤต/ช็อค  อาการจะเลวลงเมื่อไข้ลดลงกะทันหัน ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบๆ ปากเขียว บางรายอาจมีอาการปวดท้องมาก่อนจะมีอาการช็อค ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ถ้าให้การรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตใน 12-24 ชั่วโมง แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกต้อง และทันเวลา
ผู้ป่วยจะหายได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลงอาการต่างๆ จะดีขึ้น ส่วนใหญ่ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว อาจมีเหงื่อออกมากและมือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว แต่จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ จะกลับเป็นปกติ เริ่มรู้สึกอยากอาหารซึ่งจะเป็นเครื่องชี้บ่งว่าผู้ป่วยพ้นระยะอันตราย
   
3. ระยะฟื้นตัว  อาการโดยทั่วไปดีขึ้นอย่างชัดเจน ความดันโลหิตและชีพจรปกติ ตับที่โตจะลดขนาดลงภายใน 1-2 สัปดาห์ มักจะมีผื่นแดงที่ขา ปลายมือปลายเท้าและมีอาการคัน
การดูแลรักษา
ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ  คือ
   1.เช็ดตัวลดไข้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการชัก
   2.ให้ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพรินเพราะจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้เลือดออกง่าย 
   3.ให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหารอาเจียนและอ่อนเพลีย ควรให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ โดยดื่มที่ละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ
   4.ควรให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย งดอาหารที่มีสีแดง ดำ หรือสีน้ำตาล
   5.หากผู้ป่วยมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้พาไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยโรค  ที่ถูกต้อง
การป้องกัน
   1.ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนกางมุ้งหรือมีมุ้งครอบ แม้ตอนกลางวัน
   2.กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย โดยกำจัดลูกน้ำในภาชนะต่างๆ ที่มีน้ำขัง ด้วยการใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชู เช่น ใส่ลงในขารองตู้เย็น ตู้กับข้าว
   3.ปิดฝาภาชนะสำหรับเก็บน้ำให้มิดชิด เช่น โอ่ง ถังเก็บน้ำ
   4.หมั่นเปลี่ยนหรือทิ้งน้ำในภาชนะบรรจุน้ำและภาชนะที่มีน้ำขัง เพื่อป้องกันยุงมาวางไข่ เช่น แจกัน จานรองกระถางต้นไม้ 
   5.เก็บทำลายเศษวัสดุ เช่น ขวด กระป๋อง เพื่อไม่ให้รองรับน้ำได้
   6.ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ไม่มีฝาปิดหรือแหล่งน้ำใกล้บ้าน
   7.ตัดต้นไม้ ที่รกครึ้ม เพื่อให้มีแสงสว่างและอากาศถ่ายเทได้ดี
   8.ป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงลายกัด ด้วยการดูแลหน้าต่าง ประตู ช่องลม ไม่ให้ยุงเข้า จัดข้าวของในบ้านไม่ให้กองสุมกัน รวมถึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดยุง และทากันยุงให้ถูกต้อง

ด้วยเหตุนี้ การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายอันเป็นเป้านิ่งที่กำจัดง่ายที่สุด หากมีเพียงบ้านใดบ้านหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือ ยุงจากบ้านนั้นก็สามารถบินไปกัดผู้อื่นได้ และไม่แน่ว่า วันหนึ่งผู้โชคร้ายที่ป่วยรุนแรง อาจเป็นคนใกล้ตัวที่เรารักก็ได้ใครจะรู้....แล้วเราพร้อมหรือยังคะ ที่จะร่วมแรงกันกำจัดลูกน้ำยุงลายให้หมดไป...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น