วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เฉาก๊วยมาจากไหน

“เฉาก๊วย” ขนมหวานสีดำ ที่มีลักษณะหยุ่น ๆ เหมือนวุ้น ต้องรับประทานพร้อมกับน้ำเชื่อมและน้ำแข็ง ใครรู้บ้างว่า จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่วุ้น แต่มันทำมาจากพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งพืชชนิดนั้นก็คือ “ต้นเฉาก๊วย” นั่นเอง
“ต้นเฉาก๊วย” เป็นพืชล้มลุก ประเภทคลุมดิน ลักษณะเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยขนาดเล็ก ลำต้นกลม เปราะและหักง่าย พืชชนิดนี้เป็นพืชในตระกูลเดียวกับพวกใบสะระแหน่ หรือ มิ้นต์ แต่ใบจะใหญ่และเรียวแหลมกว่า ใบเป็นรูปรีแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ มีสีเขียวสด ดอกสีขาว ลักษณะคล้ายดอกกะเพรา ออกได้เรื่อย ๆ ตลอดทั้งปี คนไทยเรียกว่า “หญ้าเฉาก๊วย” แปลว่า ขนมที่ทำจากหญ้า (“เฉา” แปลว่า “หญ้า”, “ก๊วย” แปลว่า “ขนม”)
พืชชนิดนี้ขยายพันธุ์โดยวิธีปักชำกิ่ง แต่ก็สามารถขึ้นได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ที่ชอบทั้งแดดและความชุ่มชื้น ปลูกได้ทั้งในดินกลางแจ้งและลงกระถาง ใบเมื่อนำไปตากแห้งแล้วเอาไปต้มจนเดือด แล้วกรองเอาแต่น้ำก็จะได้น้ำเฉาก๊วย หรือนำยางไปผสมแป้งให้มันอยู่ตัว ก็จะได้เฉาก๊วยที่เรารับประทานกัน สรรพคุณนอกจากจะช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำแล้ว ยังสามารถควบคุมโรคความดันสูงได้อีกด้วย.

เฉาก๊วย

เป็นอาหารหวานชนิดหนึ่ง ซึ่งแพร่หลายในประเทศจีน จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นทั้งในอาหารหวาน และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สำหรับในประเทศไทยนั้น ถือว่าเป็นอาหารหวานระดับพื้นบ้าน เนื่องจากมีการจำหน่ายทั่วไปในชุมชนเมืองทั่วประเทศ

กรรมวิธี
เฉาก๊วย เป็นผลผลิตต่อเนื่องจากการแปรรูปต้นเฉาก๊วย ซึ่งเป็นพืชในวงศ์ Lamiaceae (วงศ์มิ้นท์) วงศ์เดียวกับ สะระแหน่ กะเพรา โหระพา แมงลัก และ ยี่หร่า

วิธีทำเฉาก๊วยอย่างง่ายๆ คือ นำต้นเฉาก๊วยแห้งมาต้ม จนยางไม้และแพคตินละลายออกมาได้น้ำสีน้ำตาลดำ เรียกว่า ชาเฉาก๊วย จากนั้นก็กรองเอาแต่น้ำ แล้วนำไปผสมกับแป้งพืช เพื่อให้เฉาก๊วยคงตัวเป็นเจลลี่ ซึ่งส่วนประกอบนั้น แต่ละเจ้าจะมีสูตรของตนเอง วิธีที่เป็นต้นตำรับโบราณนั้น นิยมผสมกับแป้งท้าวยายม่อม และแป้งมันสำปะหลัง อัตราส่วนตามความเหมาะสม โดยแป้งมันจะทำให้เนื้อเฉาก๊วยนิ่ม (ใส่มากจะเหลว) ส่วนแป้งท้าวยายม่อมจะให้เนื้อเฉาก๊วยคงรูปได้นาน อาจปรับปรุงโดยใส่แป้งข้าวเจ้าเพื่อให้แข็งตัวขึ้น หรือเพิ่มแป้งข้าวเหนียวให้มีความหนุบหนับ หรือใส่ส่วนผสมอื่นๆ ก็ได้ ปัจจุบัน มีผู้ค้าบางรายใส่สีผสมอาหารให้สีดำเข้มบ้าง ใส่วุ้น-เจลาติน เพื่อประหยัดต้นทุนก็มี

การรับประทานเฉาก๊วยแต่เดิมชาวจีนจะกินกับน้ำตาลทรายแดง โดยเอามาคลุกกับน้ำตาลให้เข้ากัน คนไทยนำมาดัดแปลงโดยหั่นเป็นชิ้นๆ ใส่ในน้ำเชื่อมและน้ำแข็ง กินกับข้าวโพด ลูกชิด หรือลูกตาลเชื่อมก็ได้

สรรพคุณ
เช่นเดียวกับพืชอื่นๆในวงศ์มิ้นท์ เฉาก๊วยมีสรรพคุณแก้ร้อนในกระหายน้ำ แต่เนื่องจากมีระดับของน้ำมันหอมระเหย และสารออกฤทธิ์ ในระดับที่ต่ำกว่าตระกูลกระเพราเป็นอย่างมาก จึงส่งผลให้เฉาก๊วยไม่มีฤทธิ์ขับลม หรือบรรเทาปวด เหมือนดังที่มีในพืชตระกูลกระเพรา-โหระพา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น